11/02/2020
View: 24,092
ประวัติหลวงปู่หลิว ปณฺณโก
วัดไร่แตงทอง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
(โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านด้วยครับ)
การสร้างเสนาสนะและบูรณปฏิสังขรณ์
พ.ศ.2482 ได้บูรณะ วัดท่าเสา จ.สุพรรณบุรี ท่านได้สร้างกุฏิขึ้น 3 หลัง และพระอุโบสถอีก 1 หลัง
พ.ศ.2484 ท่านไดไปจำพรรษา ณ วัดสนามแย้ จ.กาญจนบุรี ท่านได้บูรณะสิ่งต่างๆ มากมายไม่ว่า กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ และโบสถ์ จนมีความเจริญรุ่งเรือง จนเป็นที่รู้จักกันดีของประชาชนทั่วไป อุดมการณ์แห่งการสร้างสรรค์พัฒนาของหลวงปู่หลิวสืบสานการดำเนินการต่อเนื่องในวัดสนามแย้แห่งนี้ เป็นเวลายาวนานถึง 36 ปี ท่านเห็นว่าการทำงานของท่านสมควรแก่เวลาแล้ว ควรกระจายไปสู่ถิ่นอื่นบ้าง
พ.ศ.2520 สร้างวัดไทรทอง ที่ ต.จระเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ให้เวลาก่อสร้าง 5 ปีจึงแล้วเสร็จ
พ.ศ.2525 สร้างวัดไร่แตงทอง ที่ ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2535
กลับมาตุภูมิอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อหลวงปู่หลิวได้พัฒนาวัดไร่แตงทอง จนเป็นที่เจริญรุ่งเรืองแล้ว ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง แล้วได้ย้ายกลับมาจำพรรษยังวัดหนองอ้อ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี อันเป็นวัดบ้านเกิด อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2540 ท่านกลับมาจำพรรษาในฐานะพระลูกวัดองค์หนึ่งเท่านั้น ท่านใช้เวลาสร้างกุฏิหลังใหม่ด้วยเวลาเพียง 5 เดือนเศษ
สิ้นแล้วหลวงปู่หลิว
เริ่มเข้ากลางปี พ.ศ.2543 หลังจากพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่นเสาร์5 เป็นต้นมา หลวงปู่หลิวเริ่มอาพาธด้วยโรคชรา
ปรัชญาอันลึกซึ้งของหลวงปู่หลิว ขณะที่ท่านอาพาธ ก็คือไม่ยินดียินร้ายกับการจะอยู่หรือการจะไป ร่างกายของคนเราเป็นของผสม เมื่อถึงคราวแตกดับก็ต้องแตกดับ
หลวงปู่หลิวเคยปรารภกับลูกหลานว่าเกิดที่หนองอ้อก็อยากตายที่หนองอ้อ และหากว่าถึงเวลาที่ท่านต้องจากไปก็อย่าได้หน่วงเหนี่ยวท่านไว้ เพราะวัฏสงสารเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์
ในค่ำคืนวันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ.2543 เวลา 20.35 น. หลวงปู่หลิวได้ละสังขารอย่างสงบท่ามกลางลูกหลานที่คอยมาดูใจเป็นครั้งสุดท้าย ที่กุฏิของท่าน วัดหนองอ้อ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี รวมอายุ95 ปี 74 พรรษา
หลวงปู่หลิว ปณฺณโก นับเป็นผู้ทรงอภิญญา และมีพุทธาคมสูงส่ง ท่านเป็นผู้ที่มีเมตตา พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ท่านพร้อมที่จะสร้าง พร้อมที่จะเสียสละ ให้กับบวรพุทธศาสนา ท่านไปอยู่ยังที่แห่งใดก็เปรียบเสมือนดวงประทีปของที่นั่น จนท่านได้ชื่อว่า พุทธบุตร ที่ทุกคนยกย่อง
ในช่วงที่หลวงปู่หลิวยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้ใช้ความสามารถต่าง ๆ ที่ท่านมี บูรณปฏิสังขรณ์ สร้างเสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัด เช่นโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ โดยมิได้หยุด
หลวงปู่หลิว ปณฺณโก เคยตั้งปณิธานด้วยสัจจะ 2 ประการคือ
1. ลดเลิกอบายมุขทุกชนิด
2. เมื่อมีโอกาสจะสั่งสมบารมี ด้วยการสร้างเสนาสนะภายในวัด เช่นโบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลาการ เปรียญ จนกว่าชีวิตจะหาไม่
ความปรารถนาอันแรงกล้าของหลวงปู่หลิวเป็นผลให้อำนาจบารมีของคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สถิตย์ทั่วจักรวาล ดลบันดาล ให้ท่านมี วาจาสิทธิ์ กับ ญาณทิพย์ มาขจัดปัดเป่าความทุกข์โศกของเหล่าบรรดาศิษยานุศิษย์ได้อย่างเหลือเชื่อ ไม่ว่ายากดีมีจนไม่ว่าใกล้ไกลที่ไหนท่านก็จะถามถึงทุกข์สุขของทุกคนท่านได้ช่วยเหลือจนหมดสิ้น
ปฐมวัย
หลวงปู่หลิว ปณฺณโก มีนามเดิมว่า “หลิว” นามสกุล “แซ่ตั้ง” (นามถาวร) บิดามีนามว่า คุณพ่อเต่ง แซ่ตั้ง มารดามีนามว่า คุณแม่น้อย แซ่ตั้ง ท่านเกิดเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ขึ้น 11 ค่ำ เดือนอ้าย (ปีมะเส็ง) ที่หมู่บ้านหนองอ้อ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกันทังหมด 9 คน เป็นชาย 5 คน เป็นหญิง 4 คน (มีพี่ชาย 1 คน พี่สาว 1 คน มีน้องชาย 3 คน และน้องสาว 3 คน) ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของครอบครัว
ครอบครัวของหลวงปู่หลิวอยู่ในชนบท ที่ห่างไกลความเจริญ บิดามารดามีอาชีพหลักคือ ทำนา ต่างคนต่างต้องช่วยกันทำมาหากินกันไปตามสภาวะ หลวงปู่หลิวในวัยเด็กมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกันอย่างสิ้นเชิงทนที่จะไปวิ่งเล่นตามประสาเด็กในวัยเดียวกันแต่หลวงปู่หลิวกลับมองเห็นความยากลำบากของบิดา มารดา และพี่ ๆ จึงได้ช่วยงานบิดา มารดา และพี่ ๆ อย่างขยันขันแข็ง ทำให้หลวงปู่หลิวเป็นที่รักใคร่ของบิดา มารดา ตลอดจนพี่ ๆ และน้อง ๆ เป็นอย่างยิ่ง ด้วยมีความขยันขันแข็ง ทำให้หลวงปู่หลิวได้เรียนรู้วิชาช่าง ควบคู่ไปกับการทำไร่ ทำนา เพราะบิดานั้นเป็นช่างไม้ฝีมือดีคนหนึ่ง เมื่อเติบใหญ่หลวงปู่หลิว จึงมีฝีมือทางช่างเป็นเลิศ จนเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านทั่วไป
ในบางครั้งหลวงปู่หลิว ท่านต้องไปรับจ้างคนอื่นเพื่อให้ได้เงินมา ท่านต้องเดินทางไกลเพื่อไปทำงานบางครั้งไปกลับใช้ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นานา บางครั้งทำให้ท่านถึงกับล้มป่วยไปเลยก็มี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลวงปู่หลิวมีความรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพรมากมาย (เพราะหลวงปู่หลิวท่านมีลักษณะเด่นอยู่ในตัวคือ ท่านมี “ความจำ” เป็นเลิศ) นอกจากท่านจะเป็นช่างไม้ฝีมือดีแล้วท่านยังเป็นหมอยาประจำหมู่บ้านหนองอ้อ, ทุ่งเจริญ, บ้านเก่า และละแวกใกล้เคียงไปโดยปริยายใครมาขอตัวยากับท่าน ท่านก็ให้ไปทุกคน
ครอบครัวโดนรังแก
ในอดีตนั้นเขตภาคกลางโดยเฉพาะ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม กล่าวกันว่าเป็นแดนเสือ ดงนักเลง มีโจรผู้ร้ายโด่งดังมากมาย คนหนุ่มทั้งหลายกลุ่ม หลายถิ่นต่างตั้งกล่มเป็นโจรผู้ร้ายปล้นจี้สร้างอำนาจอิทธิพลในพื้นที่ของตน คนบางกลุ่มก็ตั้งกลุ่มเพื่อปกป้องคุ้มครองถิ่นของตน ครอบครัวหลวงปู่หลิวเองก็ได้รับความเดือดร้อนจากกลุ่มโจร ท่านได้พูดถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า “โยมพ่อโยมแม่และพี่ชายเป็นคนซื่อ ใจรมาขโมยวัว ขโมยควายก็มิได้ต่อสู้ขัดขืน ทำให้พวกโจรได้ใจทำให้วัดควายและข้าวของที่พยายามหามาด้วยความยากลำบากต้องสูญเสียไป อาตมาจึงเจ็บใจและแค้นใจ เป็นที่สุด แต่ทำอะไรมันไม่ได้”
ในบางครั้งโจรที่มาปล้นวัวควาย คุณพ่อเต่งและพี่ชายคนโดไม่เคยกล้า ที่จะเข้าขัดขวาง ขอเพียงแต่อย่าทำร้ายบุตรหลานก็เป็นพอ “ข้าวของเป็นของนอกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้”
หลวงปู่หลิวในช่วงนั้นก็เป็นวัยรุ่นเลือดร้อน ก็ทวีความโกรธแค้นมากขึ้น จึงคิดหาวิธีปราบโจรผู้ร้าย อย่างเด็ดขาดให้ได้ อันเป็นการช่วยตนเอง และชาวบ้านให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายต่อไป
เข้าป่าเรียนอาคม
หลวงปู่หลิว ได้ชวนหลานชายผู้เป็นลูกของพี่ชาย และหลานชายผู้เป็นลูกของพี่สาว หนีออกจากบ้านไปแสวงหาอาจารย์ผู้มีวิชาอาคม ในดงกระเหรี่ยง เพื่อขอเรียนวิชาไสยศาสตร์ เพื่อนำมาปราบโจรผู้ร้าย ที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านแทบทุกวัน ซึ่งหลานชายทั้งสองก็เห็นด้วย บนเส้นทางอันเป็นป่าเขาดงดิบด้านชายแดนไทย-พม่า มีป่าไม้รกทึบ อากาศหนาวเย็นด้วยจิตใจอันแน่วแน่ เด็กหนุ่มทั้ง 3 จึงรีบเร่งเดินทางให้ถึงจุดหมายโดยเร็วที่สุด
ป่าดงดิบสมัยก่อนนอกจากจะรกทึบแล้ว ยังเต็มไปด้วยไข่ป่าอันน่าสะพรึงกลัว ในระหว่างการเดินทางหลานชายผู้ซึ่งเป็นลูกของพี่ชายเกิดป่วยหนักด้วยโรคไข้ป่า ยารักษาก็ไม่มีเพราะไม่ได้เตรียมมา หลวงปู่หลิวจึงหยุดพักการเดินทางเพื่อรักษาไข้ป่าไปตามมีตามเกิด หลานชายทนความหนาวเหน็บและพิษของไข้ป่าไม่ไหว จึงได้สิ้นใจตายไปต่อหน้าต่อตาของหลวงปู่หลิวผู้เป็นอา และหลานอีกคน
ความรู้สึกในเวลานั้นทำให้พาลโกรธโจรผู้ร้ายมากยิ่งขึ้น ทางหลานชายเมื่อเห็นลูกพี่ลูกน้องของตนต้องมาตายจากไปจึงเกิดขวัญเสียไม่อยากเดินทางต่อไปตามที่ตั้งปณิธานเอาไว้ เพราะเกรงว่าหนทางข้างหน้าไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก จึงเอ่ยปากชวนน้าชายกลับบ้าน แต่หลวงปู่หลิวได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วว่าจะไม่กลับแน่นอน ถ้าไม่สำเร็จวิชา
หลังจากนั้นหลวงปู่หลิว ได้แยกทางกันกับหลานชายมุ่งหน้าสู่ดินแดนกระเหรี่ยง ด้วยจิตใจที่แน่วแน่ เมื่อไปถึงมีชาวกระเหรี่ยงที่พอพูดไทยได้บ้างก็เข้ามาสอบถาม หลวงปู่หลิวจึงได้บอก ความต้องการให้เขาฟัง
หลวงปู่หลิวโชคดีได้พบอาจารย์หม่งจอมขมังเวทย์ชาวกระเหรี่ยง จึงได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนวิชาอาคมด้วย ท่านใช้เวลาอยู่ในหมู่บ้านั้นนานร่วม 4 เดือน ถึงจะได้เริ่มเรียนวิชากับอาจารย์หม่ง อาจารย์ชาวกระเหรี่ยงให้ความเมตตาประสิทธิ์ประสาทวิชาให้อย่างเต็มใจ ระหว่างอยู่กับอาจารย์ หลวงปู่หลิวมีความมานะบากบั่นช่วยงานทุกอย่าง จนเป็นที่รักใคร่ของทุกคน สำหรับวิชาที่ได้ร่ำเรียนในขณะนั้นคือวิชาฆ่าคนโดยเฉพาะ เพื่อไปแก้แค้นโจรที่ลักวัวควาย หลวงปู่หลิวอยู่กับอาจารย์ชาวกระเหรี่ยงได้ 3 ปี กว่าจนถึงวัย 21 ปี ก็ศึกษาวิชาอาคมได้อย่างลึกซึ้ง ก่อนจะเดินทางกลับผู้เป็นอาจารย์ได้กำชับอย่างเด็ดขาดว่าวิชาอาคมต่าง ๆ ที่ประสิทธิ์ประสาทให้ ห้ามใช้จนกว่าจะถูกผู้อื่นทำรังแกทำร้ายอย่างถึงที่สุด เพราะมันเป็นวิชาฆ่าคน ท่านก็รับคำและเดินทางกลับบ้านเกิดด้วยความมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาให้หมู่บ้านของตนจึงเดินทางกลับบ้าน เมื่อได้พบบิดา มารดาแล้ว หลวงปู่หลิวได้ลาท่านไปท่องเที่ยวอีกครั้ง
ใช้ควายธนูปราบโจรขโมยวัว
ในฤดูฝนปีถัดมา หลวงปู่หลิวได้กลับจากท่องเที่ยว มาช่วยบิดามารดาทำไร่นาที่บ้านเกิดอีกครั้ง วัวควายที่เคยเลี้ยงอย่างระมัดระวัง ก็ปล่อยให้มันกินหญ้าตามสบาย เขาทำมาหากินได้ไม่กี่เดือนมีเพื่อนฝูงที่สนิทคนหนึ่งแจ้งข่าวให้ทราบว่า โจรก๊กหนึ่งจะเข้าปล้นวัวควายเขาในเร็ว ๆ นี้ หนุ่มหลิวก็เตรียมรับมือทันที แต่ไม่มีใครรู้ว่าเขาเตรียมตัวเช่นไร่ ทุกวันเขาทำตัวปกติมิได้อาทรร้อนใจกับเรื่องที่โจรจะเข้าปล้นกลางวันทำไร่ เลี้ยงควายไปตามเรื่อง ตกเย็นค่ำมืดกินข้าวกินปลาหากไม่มีเพื่อนแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนเขาก็เข้านอนแต่หัววัน
อีกหลายสิบวันต่อมา คืนหนึ่งดึกสงัดเป็นวันข้างแรม ท้องทุ่งอันเวิ้งว้างมืดสนิทไร้แสงเดือน ท้องฟ้ามีแต่หมู่ดาวกลาดเกลื่นระยิบระยับไปทั่ว แต่ที่บ้านของหนุ่มหลิว มันเงียบแต่ไม่สงัด ร่างตะคุ่มหลายสายพากันเคลื่อนไหวเข้าใกล้เรือนที่มืดมืดของเขา ร่างเหล่านั้นมุ่งไปที่คอกวัวควายส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคุมเชิงระวังภัยให้กับเพื่อน
ทันใดนั้น กลุ่มโจรที่เข้าไปเปิดคอกถึงกับตะโกนร้องอย่างตกใจ ระคนด้วยความหวาดกลัวแล้วแตกกระเจิงออกคนละทิศละทาง เสียงโวยวายร้องบอกให้เพื่อนหลบหนีดังขึ้นสลับร้องโหยหวนเจ็บปวด
เช้าตรู่ของวันใหม่ ท่านเอาวัวควายออกเลี้ยงตามปกติที่ไร่ แม้ว่ารอบบ้านจะมีร่องรอยเท้าคนย่ำอย่าสับสนและมีรอยเลือดกองเป็นหย่อม ๆ และกระเซ็นไปทั่ว เขาไม่ยี่หระวางเฉย เพียงแต่ก้มลงหยิบสิ่งหนึ่งที่หน้าคอกสัตว์ มันคือ รูปปั้นควายดินเหนียว ซึ่งเลอะไปด้วยเลือดเต็มเขาและหัวของมัน หรือว่าสิ่งนี้ คือ ”ควายธนู” ทำการขับไล่เหล่าโจรร้าย ไม่มีใครรู้นอกจากหนุ่มหลิวเพียงคนเดียว
ข่าวการใช้ควายธนุขับไล่โจรก๊กนั้นแพร่สะพัดไปทั่วหมู่บ้านและลือกันต่าง ๆ นานาว่าท่านเป็นผู้มีของดี ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายมีมิจฉาชีพคิดอยากลองของ ด้วยการซุ้มรุมทำร้ายด้วยอาวุธนานาชนิด แต่มีด ปืนผาหน้าไม้ที่รุมกระหน่ำไม่สามารถทำอันตรายท่านได้แม้แต่น้อย แถมการที่ท่านสู้แบบไม่ถอยทำให้คนร้ายวิ่งหนีกันหัวซุกหัวซุน จากชัยชนะหลายครั้ง หลายหนต่อการรุกรานในรูปแบบต่างๆ สร้างความพอใจให้กับคนในหมู่บ้านบางรายถึงกับยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ แต่ก็มีชาวบ้านบางพวกกับมองว่าท่านเป็นนักเลงหัวไม้
ในที่สุดหลวงปู่หลิวก็ปราบโจรลงอย่างราบคาบ จนโจรหลายคนต้องมากราบขออโหสิ และบางคนก็มาขอเป็นศิษย์ นับแต่นั้นมาชาวบ้านก็มีแต่ความสงบสุข ไม่ต้องหวาดผวาโจรผู้ร้าย บรรดาโจรผู้ร้ายหลายคนก็ได้กลับตัวกลับใจ ทำมาหากินด้วยความสุจริต อย่างชาวบ้านทั่วไป หลวงปู่หลิวได้กล่าวถึงพวกโจรขโมยวัวควายที่พ่ายแพ้ตนว่า “คนเราถ้าอยากจะชนะ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยกล ก็ต้องเอาด้วยคาถา แต่เมื่อเขายอมรับผิด ยอมกลับตัวกลับใจ เราก็ควรให้อภัยแก่ผู้สำนึกผิดเป็นการให้ที่ประเสริฐและได้กุศลด้วย”
ชีวิตที่ยังไม่เปิดเผย
ภายหลังที่หลวงปู่หลิวได้ปราบโจรเป็นที่เรียบร้อย และชาวบ้านอยู่อย่างสงบสุขแล้ว หลวงปู่หลิวก็ได้กลับมาทำไร่ ทำนาตามปกติ ตอนนี้ท่านได้แยกตัวออกมาทำงานของตัวเอง ท่านทำหลายอย่าง เผาถ่านท่านก็เคยทำ เก็บเห็นเผาะขายก็เคย รับจ้างทำไร่ก็เคย ตอนที่ท่านทำไร่นี่แหละ ท่านไปเจอแม่ม่ายคนหนึ่งชื่อ ”นางหยด” เกิดชอบพอกันขึ้นมา ก็เลยอยู่กินด้วยกัน และมีลูกชายด้วยกันคนหนึ่งคือ นายกาย นามถาวร ซึ่งเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านธรรมดา ๆ ที่มีความรักเอื้ออาทรต่อกัน
สู่โลกธรรม
เมื่อหลวงปู่หลิวได้ใช้ชีวิตอยู่กับนางหยด ระยะหนึ่งแล้ว ได้สัมผัสกับกระแสแห่งความวุ่นวายในสังคมมนุษย์ ความโลภ โกรธ หลง อวิชชา ตัณหา ราคะต่าง ๆ หลวงปู่หลิวเริ่มจับตามองความเป็นไปต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายในสังคมทีละน้อย ๆ และความรู้สึกนั้นได้เพิ่มพูนมากขึ้น
จนกระทั่งหลวงปู่หลิวมีอายุได้ 27 ปี ได้เกิดความเบื่อหน่ายสุดขีด ในการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกันตามสภาวะแห่งกิเลสตัณหา ราคะของชีวิตฆราวาส ซึ่งไม่ถูกกับนิสัยที่แท้จริงของตน คือรักความสงบชอบความสันโดษเรียบง่าย จิตใจของหลวงปู่เริ่มเองเอียงไปทางธรรมะธัมโม อยากจะเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา หลวงปู่หลิวจึงได้ขออนุญาตบิดา มารดา เพื่ออกบวชแสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง ท่านทั้งสองก็เห็นดีเห็นงาม ด้วยความปลาบปลื้มเป็นล้นด้น ที่ลูกชายจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
หลวงปู่หลิว ได้เข้าบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดโบสถ์ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี (ประมาณเดือน 7 ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. 2475 ปีวอก) โดยมีหลวงพ่อโพธาภิรมย์ แห่งวัดบำรุงเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระอาจารย์ห่อ วัดโบสถ์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า “ปณฺณโก” อ่านว่า ปัน-นะ-โก
เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่หลิว ปณฺณโก ได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดหนองอ้อ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน เพื่อเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรมและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานควบคู่กันไปทั้งยังความสะดวกสบายกว่าที่อื่น ๆ เพราะมีญาติพี่น้องให้ความอุปัฏฐากอย่างใกล้ชิด
ในพรรษาแรกนั้น หลวงปู่หลิวได้มีโอกาสใช้วิชาช่างช่วยท่านเจ้าอาวาสสร้างศาลาการเปรียญหลังหนึ่งซึ่งใหญ่มากจนสำเร็จ
ต่อมาอีก 4 เดือนท่านได้ช่วยปรับพื้นศาลาเสร็จอีก และยังได้สร้างกี่กระตุก (ที่ทอผ้า) อีก 50 ชุด เพื่อถวายให้กับวัดหนองอ้อ จึงนับได้ว่าหลวงปู่หลิวไม่เคยหยุดนิ่ง ท่านมีพรสวรรค์ทางเชิงช่างเป็นเลิศ จนเป็นที่ยอมรับของครูบาอาจารย์ และญาติโยม ชาวบ้าน เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งภายหลังจะเห็นได้ว่า การก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัดล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของหลวงปู่หลิวทั้งสิ้น
Tags : ประวัติหลวงปู่หลิว หลวงปู่หลิว หลวงพ่อหลิว วัดไร่แตงทอง วัดไทรทองพัฒนา พญาเต่าเรือน รุ่นปลดหนี้ วัดสนามแย้ รุ่นรวยรวยรวย